วันจันทร์, 20 พฤษภาคม 2567

ลัทธิอนาคตวงศ์ ต้นตอการตัดหัว-เผาตัวถวายเป็นพุทธบูชา

ลัทธิอนาคตวงศ์ ต้นตอการตัดหัว-เผาตัวถวายเป็นพุทธบูชา

จากข่าวอดีตพระสงฆ์จากจังหวัดหนองบัวลำภู สร้างกิโยตินเพื่อตั ดหัวตัวเองถวายเป็นพุทธบูชา จนสร้างความแปลกประหลาดปนสยองขวัญให้กับคนไทยไม่น้อย แต่เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อกว่า 200 ปีก่อน ก็เคยมีหลายคนกระทำเรื่องในทำนองดังกล่าวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเช่นกัน

ในบทความ “ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์” ในวารสารดำรงวิชาการ (ปีที่ 8 ฉบับที่ 2) เขียนโดย ศรัณย์ ทองปาน ได้ยกเหตุการณ์การบูชา “ด้วยเลือ ดด้วยเนื้อ” ของตนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และอธิบายถึงสาเหตุที่มาของคติความเชื่อดังกล่าวไว้

บุคคลหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ “นายบุญเรือง” เผาตัวตา ยที่วัดอรุณฯ โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 ราว พ.ศ. 2333 โดย นายบุญเรือง, นายทองรัก และขุนศรีกัณฐัศ สามสหายผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา พากันไปยังพระอุโบสถวัดครุทธาราม ตั้งสัตยาธิฐานเสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละหนึ่งดอก บูชาพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าผู้ใดจะสำเรจแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลแล้ว ขอให้ดอกบัวของผู้นั้นจงบานเหนประจักษโดยแท้” วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าดอกบัวของนายบุญเรืองบานเพียงดอกเดียว เช่นนั้นนายบุญเรืองจึงมุ่งถวายชีวิตของตนเพื่อพระพุทธศาสนา

พงศาวดารบันทึกเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า “ตั้งแต่นั้นมานายบุญเรืองก็มาอาไศรยอยู่ที่การเปรียญเก่า ณ วัดแจ้ง ตั้งสมาทานพระอุโบสถศีลฟังพระธรรมเทศนา เอาสำลีชุบน้ำมันเปนเชื้อพาดแขนทั้งสองค่างจุดเพลิงบูชาต่างประทีบทุกวัน ๆ ครั้งถึง ณ วันศุกร์ เดือนสาม ขึ้นแปดค่ำ เวลากลางคืนประมาณทุ่มเสศ นายบุญเรืองฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว ก็นุ่งห่มผ้าชุบน้ำมันเดินออกมาน่าการเปรียญ นั่งพับเพียบพนมมือตั้งสติรักษาจิตรระงับสงบดีแล้วจุดเพลิงเผาตัวเข้า เมื่อเปลวไฟวูบท่วมตัวนั้น นายบุญเรืองร้องประกาศแก่คนทั้งปวงว่าสำเรจความปราฐนาแล้ว…”

ขณะที่นายบุญเรืองกำลังเผาตัวตา ยอยู่นั้น ปรากฏว่ามีคนยืนดูประมาณ 500-600 คน เศษ บ้างก็ร้องสาธุการ บ้างโยนผ้าเข้าไปในกองไฟเพื่อเป็นการบูชา เมื่อไฟสงบลงจึงนำศ พใส่โลงและสวดพระอภิธรรม 3 คืน เสร็จจึงนำไปฌาปนกิจที่ทุ่งนาวัดหงษ์ มีเรื่องเล่าต่อว่าเมื่อเผาศ พนั้นปลาในท้องนาประมาณ 11-12 ตัว กระโดดเข้ามาตา ยในกองไฟด้วย และเมื่อไฟดับก็เห็นอัฐิของนายเรืองเป็นสีเขียว ขาว เหลือง ขาบ สร้างความแปลกประหลาดให้กับผู้คน จนที่สุดจึงนำอัฐิใส่โกศนำเก็บไว้ที่วัดอรุณฯ

หลังจากเหตุการณ์นายบุญเรืองเผาตัวตา ยที่วัดอรุณฯ อีก 27 ปี ต่อมา ใน พ.ศ. 2360 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 “นายนก” ผู้มีความมุ่งหมายที่จะบรรลุเป็นพระโพธิญาณอีกคนหนึ่ง ก็ได้กระทำการเผาตัวตา ย ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้เอง และภายหลังได้มีการสร้างรูปนายบุญเรืองและนายนกเป็นหินสลักไว้ที่วัดอรุณฯ พร้อมกับสร้างจารึกบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมด

จากเหตุการณ์ทั้งสองนี้ ศรัณย์ ทองปาน อธิบายไว้ว่ามีสาเหตุมาจากคติความเชื่อเรื่อง “พระอนาคตวงศ์” ซึ่งแพร่หลายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว พระอนาคตวงศ์หรือที่เรียกในคัมภีร์ว่า “ทสโพธิสัตตุนิทเส” หรือ “ทศโพธิสัตตุปัตติกถา” สันนิษฐานว่ารจนาขึ้นในอาณาจักรล้านนา มีเนื้อหาว่าด้วยพุทธประวัติของพระอนาคตของพระพุทธเจ้า 10 พระองค์

พระพุทธเจ้าเหล่านั้นล้วนมีชาติกำเนิดที่แตกต่างหลากหลาย บ้างเป็นกษัตริย์ บ้างเป็นขุนนาง บ้างเป็นสัตว์เดรัจฉาน หากแต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันคือ การบำเพ็ญกุศลในระดับอุกฤษฎ์ (ระดับสูงสุด) ด้วยความเด็ดขาดและรุ นแรง เช่น เชือ ดศีรษะหรือจุดไฟไว้บนศีรษะเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา, ยอมถูกประหา รชีวิตเพื่อให้ได้ถวายไทยทานแก่พระพุทธเจ้าก่อนผู้ใด, ยกโอรสธิดาให้ยักษ์กินเป็นทาน หรืออย่างในพระชาติที่เป็นพญาช้าง ก็อุทิศงาข้างหนึ่งสร้างโลง อีกข้างทำเป็นแจกัน และใช้ศีรษะเป็นที่ประชุมเพลิงศ พของพระอรหันต์

เรื่องพระอนาคตวงศ์นี้ได้ส่งผลให้ผู้คนในยุคนั้นยึดถือเอาการสละชีวิตเพื่อบูชาพระรัตนตรัย แลกเอาพระนิพพาน คงถือเป็นบุญกิริยาอันใหญ่หลวง และเป็นเรื่องน่าเลื่อมใสศรัทธา โดยนอกจากกรณีของนายบุญเรืองและนายนกนี้แล้ว ปรากฏว่ายังมีเหตุการณ์ทำนองนี้อีก เช่น มีสตรีบางคงไปสักการะพระพุทธบาทที่สระบุรี นำน้ำมันเทลงในอุ้งมือ ปั้นดินเป็นขาหยั่งร้อยด้ายตั้งกลางใจมือ จุดไฟแทนตะเกียงบูชาพระพุทธบาท ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับการกระทำของนายบุญเรืองที่ว่า “เอาสำลีชุบน้ำมันเปนเชื้อพาดแขนทั้งสองค่างจุดเพลิงบูชาต่างประทีบทุกวัน ๆ”

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านสามัญชน ในหมู่ชนชั้นสูงก็มีเรื่องทำนองนี้เช่นกัน นั่นคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 ดังมีบันทึกว่าในช่วงบั้นปลายพระชนม์ทรงพระประชวรหนัก เสด็จฯ มาวัดมหาธาตุ รับสั่งจะนมัสการลาพระพุทธรูป แล้วทรงพยายามเอาพระแสงแทงพระองค์เองเพื่อถวายพระ แต่มีผู้เข้าห้ามและแย่งพระแสงไปได้ทันเสียก่อน

บำเพ็ญ ระวิน ผู้รวบรวม “ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาค 3 พระอนาคตวงศ์” กล่าวไว้ว่า “อนาคตพุทธะทำให้ผู้ที่มีศรัทธานำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นและเข้าสู่โพธิญาณ กลายเป็นความจงรักภักดี จนกลายเป็นลัทธิไปก็มี” ขณะที่ ศรัณย์ ทองปาน กล่าวว่า “ความศรัทธาในพระอนาคตพุทธเจ้านี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นพุทธศาสนา ‘ลัทธิอนาคตวงศ์’ ซึ่งน่าจะเป็นพุทธศาสนากระแสหลัก หรือเป็นพุทธศาสนา ‘ประชานิยม’ (Popular Buddhism) ยุคต้นรัตนโกสินทร์”

ศรัณย์ ทองปาน อธิบายว่าคติความเชื่อจาก “ลัทธิอนาคตวงศ์” เข้มข้นมากในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงตำหนิและประกาศเตือนถึงผู้คนที่ยังยึดคติความเชื่อนี้ว่าไม่ควรกระทำเป็นอันขาด ดังความว่า

“ได้ฟังคำเล่าลือ แลได้ฟังพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกธรรมให้รู้จริงมาเทศนาเลอะ ๆ ลาม ๆ ใกล้จะเสียจริต พรรณาสรรเสริญว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก แล้วหลงใหลเห็นตามไป เหมือนอย่างเผาตัวบูชาพระรัตนตรัยแลเชือ ดคอเอาศีรษะบูชาพระ เชือ ดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงตามบูชา…

ตั้งแต่นี้สืบไปอย่าให้ใครเผาตัวบูชาพระ ตั ดศีรษะบูชาพระ เชือ ดเนื้อรองโลหิตตามตะเกียงบูชาพระเลยเป็นอันขาด เพราะว่าเปนการขัดต่อราชการแผ่นดิน… ผู้ซึ่งได้รู้เห็นแลจะนิ่งดูดายเสียไม่ห้ามปราม หรือจะพลอยเห็นว่าได้บุญได้กุศลนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ใดได้รู้เห็นแล้วดูดายเสีย ไม่ว่ากล่าวห้ามปรามแย่งชิงเครื่องศัสตราวุธ… จะให้ผู้นั้นเสียเบี้ยปรับตามรังวัด…”

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เองที่แนวคิดหรือกระแส “เหตุผลนิยม” ของพุทธศาสนาสมัยใหม่แบบธรรมยุติกนิกายแพร่หลาย ทำให้ “ลัทธิอนาคตวงศ์” ลดความสำคัญลงไป แต่มิได้หายไปจนหมดสิ้น ยังทิ้งร่องรอยและแพร่หลายอยู่บ้างในบางท้องถิ่น กระทั่งต่อมาในยุคหลัง คติความเชื่อดังกล่าวก็ถูกลืมเลือนและหมดความสำคัญลงสิ้น


เรื่องที่เกี่ยวข้อง